Blog

ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานของคนไทยและต้องปรับตัวให้ทันเพื่อพ้นผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้

การปรับตัวของคนทำงาน คนหางาน และผู้สมัครงานในปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิตต่อไปท่ามการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คนทำงานก็ต้องระมัดระวังตนเอง แต่การทำงานก็จำเป็นในการดำรงชีวิต รายได้ ภาระหนี้สิน ที่นับวันยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้จะมีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐบางส่วนก็ตาม ทุกบริษัทก็ต้องมีการปรับตัว การทำงานที่บ้าน หรือบางสาขาอาชีพก็ไม่สามารถหยุดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทางไปทำงานได้ ก็ต้องดูแลตัวเอง เว้นระยะห่างทางสังคม หลายสาขาอาชีพก็งดรับพนักงาน งดสัมภาษณ์งาน ลดอัตรากำลังคน ลดเงินเดือน หรือหนักสุดก็คือให้หยุดงาน แต่ก็ต้องดิ้นรนไปในสถานการณ์แบบนี้ต้องผ่านไปให้ ไม่ว่าผู้สมัครงาน นักศึกษาจบใหม่ที่เป็นช่วงนี้พอดี เป็นเรื่องยากที่จะมีการรับสมัครงาน หางาน จนสามารถพิสูจน์อะไรได้หลายๆอย่าง จากพฤติกรรมของคน เช่นการหาช่องทางหางานทางอื่นๆ เว็บไซต์หางาน บริษัทจัดหางาน หรือไม่ก็ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ก็ยังเป็นตัวเลือกในการหางานช่วงแบบนี้ได้ดีทีเดียว เราจะได้คัดบทความดีๆ จาก ธนาคารแห่งประเทศ เพื่อมาให้ความรู้และเตรียมความพร้อมตัวเองในหางานหางาน ทำงานในยุคโควิดนี้กัน 

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น ประเทศไทยได้เผชิญจุดผกผันของประเทศ หรือ Golden period ที่จะตัดสินว่าการระบาดของโควิด-19 ในไทยจะสามารถ คุมได้ หรือ คุมไม่ได้ ซึ่งถ้า คุมไม่ได้ จำนวนคนไข้จะเกินศักยภาพของสาธารณสุขไทยที่จะรองรับได้ ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ห้องผู้ป่วย หรืออุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อนั้นจะไม่เพียงพอ เพื่อให้เรารอดพ้นจากสถานการณ์ที่คุมไม่ได้จึงเป็นที่มาของการปฏิบัติตัวที่เราทุกคนต้องช่วยกันด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social distancing (การใช้ชีวิตที่ลดการปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพและทางสังคม) ตามหลักที่ว่า โรคติดต่อ จะไม่ติดต่อ ถ้าเราไม่ติดต่อกัน รวมไปถึงการทำงานที่บ้านสำหรับสายอาชีพที่สามารถทำได้ และมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อเสริมการเว้นระยะห่างทางสังคม ทั้งการปิดช่องทางการเข้ามาในประเทศ และการปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรคเป็นการชั่วคราว ซึ่งปกติมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น สถานบันเทิง ร้านเสริมสวย ร้านนวดแผนโบราณ สถานศึกษา ตลาดนัด และห้างสรรพสินค้าบางส่วน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เชื่อแน่ว่าวิถีชีวิตแบบใหม่ของการอยู่ร่วมกันในสังคมและมาตรการดังกล่าว จะช่วยลดปริมาณผู้ติดเชื้อลงได้ในภายหน้า และช่วยให้เราข้ามผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ไปได้ หากแต่คนไทยทุกคนต้องปรับตัวและอดทนเพื่อก้าวข้ามวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

 

บทความในวันนี้ขอแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับแนวทางการใช้ชีวิตในห้วงเวลาสำคัญนี้ โดยขอแบ่งการทำงานตามวิถีชีวิตแบบใหม่ออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือคนที่สามารถทำงานที่บ้านได้ หรือ ที่เรียกกันติดปากในแทบทุกสื่อว่า WFH - Work From Home เช่น ครู นักการเงิน ผู้บริหาร ที่เทคโนโลยียุคนี้เอื้อให้ทำงานได้อย่างคล่องตัวแม้ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ขณะที่การทำงานในบางอาชีพแทบไม่จำเป็นต้องพบเจอผู้คนเลยด้วยซ้ำ เช่น นักเขียน นักออกแบบโปรแกรมเมอร์ ซึ่งภายใต้สถานการณ์ปกติแล้ว คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่คงต้องเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศ ดังนั้นหากคนกลุ่มนี้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสที่จะประหยัดเวลาในการเดินทาง ยิ่งถ้าเป็นกรุงเทพฯ การต้องฝ่าฟันรถติดได้บั่นทอนศักยภาพในการทำงานไปไม่มากก็น้อย เมื่อปรับตัวได้ การทำงานที่บ้านย่อมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ถือเป็นการฝึกวินัยด้วยหลักที่ว่าการทำงานวัดที่ผลงาน ไม่ได้วัดที่เวลาการเข้า-ออกจากที่ทำงาน ผู้เขียนจึงมองว่าคนกลุ่มนี้อาจไม่ได้รับผลกระทบในด้านการทำงานมากนักจากวิกฤตโควิด-19 แม้อาจรู้สึกอึดอัดถ้าชอบใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางฝูงชน อย่างไรก็ดี คนกลุ่มนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ไทยควบคุมสถานการณ์ได้หากอยู่แต่ที่บ้านไม่ออกไปไหนถ้าไม่จำเป็น และมากไปกว่านั้นถ้ามีวินัยในการทำงานก็จะยิ่งเป็นกำลังสำคัญให้กับเศรษฐกิจไทยในช่วงวิกฤตนี้ได้

 

กลุ่มที่สองคือ คนที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ ประกอบไปด้วยคนหลายสายอาชีพ บุคลากรทางการแพทย์ ฮีโร่ของเราที่ต้องเผชิญความท้าทายอย่างมาก จากทั้งโรคอุบัติใหม่ซึ่งทำให้ยากแก่การรักษา จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน และยังต้องเผชิญกับการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อซึ่งสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางความเสี่ยงของการติดโรค คนกลุ่มนี้อุทิศตัวในการทำหน้าที่อย่างเต็มที่ท่ามกลางความเสี่ยงของโรค ถัดมาเป็นอาชีพที่ช่วยให้พวกเราอยู่รอดได้ในวิถีชีวิตใหม่อย่างราบรื่น อาทิ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง พนักงานขนส่งสินค้าอุปโภค บริโภค รปภ. ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ต้องประจำการ ฯลฯ ซึ่งคนกลุ่มนี้ที่เป็นข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจจะได้รับเงินเดือนเท่าเดิม ขณะที่อาชีพอื่นอาจได้รับรายได้แตกต่างกันไปตามผลกระทบ มอเตอร์ไซค์รับจ้างอาจมีได้รายได้มากขึ้น เนื่องจากคนไม่ออกจากบ้านจึงใช้บริการสั่งอาหาร/ส่งของมากขึ้น แม้คนกลุ่มนี้อาจจะมีโอกาสสร้างรายได้มากขึ้น แต่ก็เป็นการปฏิบัติงานบนความเสี่ยงที่จะต้องสัมผัสกับโลกภายนอกจึงเป็นที่น่าชื่นชมและควรได้รับการปฏิบัติด้วยเป็นอย่างดีจากพวกเราที่ต้องพึ่งพาอาศัยในยามยากเช่นนี้ 

และกลุ่มสุดท้าย คือ คนในสายอาชีพที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจนสูญเสียงานหรือรายได้ ทั้งที่ได้รับผลโดยตรงจากนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างมาก เช่น ไกด์ เจ้าของธุรกิจโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรือจากการปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรคเป็นการชั่วคราว เช่น พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของตามตลาดนัด นักร้อง/นักแสดงตามสถานบันเทิงต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งคนกลุ่มนี้มีเกือบร้อยละ 20 ของผู้มีงานทำทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่จะต้องก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น พนักงานในโรงงานที่อาจปิดสายพานการผลิตบางส่วนเนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้าลดลงไปมากโดยเฉพาะคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมนี้อาจมีการกระจายตัวอยู่ทั้งในภาคเกษตร (ร้อยละ 30 ของผู้มีงานทำ) ภาคอุตสาหกรรม (ร้อยละ 16 ของผู้มีงานทำ) และ ภาคบริการอื่น ๆ (ร้อยละ 17 ของผู้มีงานทำ) การดูแลเยียวยาคนกลุ่มนี้ให้สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดในขณะนี้

 

เมื่อทบทวนดูแล้ว จะพบว่าพวกเราทุกสาขาอาชีพต่างได้รับผลกระทบจากมหันตภัยโควิด-19 กันถ้วนหน้า มากบ้างน้อยบ้างตามแต่บทบาทหน้าที่ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า นโยบายการช่วยเหลือจากภาครัฐในปัจจุบันจึงมีลักษณะทั้งมิติที่มุ่งให้ครอบคลุม เช่น การยืดระยะเวลาในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การหักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพ การบรรเทาภาระการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ การลดภาระค่าธรรมเนียมค่าเช่า ค่าตอบแทนในการให้บริการของส่วนราชการ การลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม การเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน รวมถึงมาตรการเสริมสภาพคล่องในวงกว้างจากทั้งระบบธนาคารและสำนักงานธนานุเคราะห์ และมิติที่มุ่งให้สามารถสนับสนุนและเยียวยาได้อย่างตรงจุด เช่น การให้ค่าเสี่ยงภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์พร้อมกับยกเว้นภาษีเงินได้ในส่วนนั้น ๆ การสนับสนุนเงินแก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระนอกระบบประกันสังคม ซึ่งแน่นอนว่าพวกเราทุกคนคงอยู่ในสภาวะที่ไม่ว่าเงินช่วยเหลือเยียวยาจะมีมากเท่าใดก็ไม่มีทางชดเชยความสูญเสียทั้งทางรายได้และความรู้สึกที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้ แต่ขออนุญาตทิ้งท้ายบทความไว้ว่า ยิ่งพวกเราต้องรักษาระยะห่างกันไว้เท่าใด แต่การร้อยจิตเชื่อมใจให้เหนียวแน่นจะเป็นหนทางสายเอกในการร่วมฝ่าฟันภัยพิบัติร่วมกันไป และขอให้ทุกท่านแคล้วคลาดปลอดภัยรักษากายใจให้มั่นคงจนถึงวันที่เราจะได้ออกมาฉลองท่องเที่ยวได้อย่างเต็มที่หลังโรคร้ายยุติการแพร่ระบาดลง

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ขอขอบคุณบทความจาก :  ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์  นางสาวนันทนิตย์ ทองศรี  ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ



Related articles

5การเสี่ยงในชีวิตการทำงานที่คุณควรลองทำดู

การเสี่ยงคงเป็นเรื่องที่พูดให้ลองก็เหมือนจะง่ายแต่ทำจริงๆ ก็คงจะยากอยู่เหมือนกัน ผมเองเขียนเรื่องการพัฒนาตัวเองซึ่งประเด็นว่าด้วยการเสี่ยงก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ แต่ก็ใช่ว่าทำได้ง่ายๆ และพอมาเป็นเรื่องของหน้าที่การงานหรือการตัดสินใจในการทำงานก็จะยิ่งแล้วใหญ่ (เพราะมันก็เกี่ยวกับอนาคตของคนเลยก็ว่าได้) วันก่อนผมก็ไปอ่านบทความของ The Muse ว่าด้วยการเสี่ยง (หรือการตัดสินใจ) บางอย่างในการทำงานซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเสี่ยงอยู่มาก แต่ก็เป็นเรื่องที่คุณควรจะลองเสี่ยงอยู่เหมือนกัน (ในบทความถึงกับใช้คำว่าถ้าคุณไม่เสี่ยงจะเสียใจเลยทีเดียว) เลยขอหยิบเอาแนวคิดจากบทความนั้นมาเล่าสู่กันฟังพอเป็นไอเดียให้พิจารณาแล้วกันนะครับ 1. จ้างหรือให้โอกาสคนที่ไม่น่าจ้าง เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าคุณควรเลือกคนประเภทสุดขั้วชนิดไม่ควรเอามาทำงานหรอกนะครับ แต่มันหมายถึงการลองมองเห็นความสามารถของคนมากไปกว่า Resume ที่ส่งเข้ามาให้คุณกรองต่างหาก เรื่องนี้มีสถิติน่าสนใจเพราะ Jeff Harden ซึ่งเป็นคนเขียนบทความนั้นทำแบบสอบถามบรรดาผู้ประกอบการต่างๆ ซึ่งก็พบว่าหนึ่งในบรรดาลูกจ้างที่โดดเด่นชนิดเป็นเพชรของบริษัทคือคนประเภทที่ตอนสมัครนั้นไม่ใช่พวกที่ตรงกับ Qualification เลย เรื่องความสามารถของพนักงานนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าคิดอยู่พอสมควร เพราะคนส่วนใหญ่มักมองเรื่องทักษะและประสบการณ์เป็นส่วนสำคัญในการคัดเลือก ทำให้เรามักมองหาคนจากประวัติการศึกษาและประวัติการทำงาน แต่หลายๆ ทีเราจะเจอคนเก่งๆ ที่ประสบการณ์ยังน้อยแต่เต็มไปด้วย “ไหวพริบ” “ทัศนคติ” และ “วิสัยทัศน์” ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาได้จากประวัติการทำงานเลย และนี่อาจจะเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่คุณอาจจะต้องคิดกันเสียหน่อยเวลาหาคนมาทำงานให้กับองค์กรของคุณครั้งต่อไปล่ะ 2. ขอโทษกับความล้มเหลวที่เกิดขึ้น บางครั้งเรามักจะเจอสถานการณ์ที่ได้ทำความผิดพลาดครั้งใหญ่ไปจนประเภทอยากจะมุดดินหนี ไม่กล้าที่จะขอโทษเพราะมันจะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์หรือประวัติของเราแย่ แต่ก็อีกนั่นแหละที่บางครั้งการขอโทษอาจจะทำให้คุณได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าก็ได้ (อันที่จริงการขอโทษไม่ใช่เรื่องแย่แต่อย่างใดเลยด้วยซ้ำ) แม้ว่าการยอมรับความผิดพลาดนั้นจะทำให้คุณดูแย่ในสายตาหลายๆคน จะทำให้คุณต้องพบกับความอับอาย แต่เชื่อเถอะว่าต่อให้คุณไม่ได้รับผิดมันก็แย่อยู่แล้ว การที่คุณกล้าเสี่ยงขอโทษนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ทำให้ตัวคุณหลุดจากบ่วงหรือความอึดอัดหลายอย่างได้ในภายหลัง ผมลองคิดๆดูแล้ว ชีวิตคนเรามีหลายสิ่งที่เป็นความทรงจำฝังใจ และมันมักทำให้เรารู้สึกจี๊ดใจเวลานึกถึงอยู่เหมือนแผลที่ไม่เคยถูกรักษา ซึ่งมันก็อาจจะดีกว่าถ้าคุณต้องเจ็บสักครั้งแต่ทำให้แผลนั้นหายหรือไม่ติดค้างอะไรอีกต่อไปนั่นแหละ 3. เผชิญหน้ากับสิ่งที่คุณกลัวที่สุด คนเราล้วนมีความกลัว ล้วนมีบางเรื่องที่รู้สึกไม่มั่นใจเป็นเรื่องธรรมดา การงานก็เช่นกันที่คุณจะมีงานที่คุณกลัวที่จะทำ หรือกับสายงานที่คุณลำบากใจหากต้องไปยุ่ง แต่ก็อย่างว่าแหละครับว่าในบรรดาสิ่งที่คุณกลัวหรือคุณไม่กล้าเผชิญนั้นก็ย่อมแฝงไว้ด้วยโอกาสซึ่งคุณไม่เคยเข้าไปแตะต้องมัน และถ้าคุณกล้าจะเสี่ยงไปเผชิญหน้าหรือลองทำมันแล้ว ดีไม่ดีมันจะออกมากลายเป็นว่าคุณได้โอกาสอย่างไม่น่าเชื่อเลยก็ได้ เรื่องนี้ก็อาจจะเป็นสิ่งน่าคิดว่าคนทำงานเก่งๆนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีเรื่องที่กลัว เพียงแต่เขารู้ว่าการอยู่กับความกลัวตลอดไปไม่น่าจะใช่คำตอบเสียทีเดียว พวกเขาเลยลองทำโน่นทำนี่ กล้าที่จะเสี่ยงกับบางอย่างใหม่ๆที่อาจจะไม่เคยทำ (และบางอย่างก็เป็นสิ่งที่เขากลัวด้วย) และการที่เขาลองทำอะไรนี่แหละทำให้ศักยภาพของเขามากขึ้นกว่าเดิมเรื่อยๆและสุดท้ายกลายเป็นว่าเขาสามารถทำสิ่งต่างๆได้มากมายกว่าคนทั่วๆไปนั่นแหละครับ 4. ทำในสิ่งที่คุณอยากทำแม้ว่าจะไม่ตรงกับสิ่งที่คนอื่นคาดหวัง เรามักเห็นบ่อยๆว่าไอเดียบรรเจิดๆของคนๆหนึ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จนั้นเป็นอะไรที่ “ผ่าเหล่า” บ้างก็ชนิดคนทั่วไปคงร้องยี้หรือเบือนหน้าหนี แน่นอนว่าปรกติแล้วคนรอบข้างคุณก็มักจะมีความเห็นหลายๆอย่างซึ่งก็จะมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับคุณแต่ก็นั่นแหละที่ถ้าคุณเอาแต่ฟังคนอื่นเพื่อมาคอยคอนเฟิร์มคิดอยู่ตลอดก็คงจะไม่ใช่เรื่องเข้าท่าสักเท่าไร บางเรื่องเป็นสิ่งที่คุณรู้สึกอยู่ลึกๆหรือเป็นประเภทที่ตัวตนของคุณร่ำร้องว่าต้องทำอย่างนั้น และคุณก็ควรจะลองเสี่ยงไปกับมันแทนที่จะรอฟังความเห็นคนอื่นๆ (ซึ่งก็มักจะเป็นตัวเบรกนั่นแหละ) ถ้าคุณรู้สึกกับอะไรมากๆหรือมีความฝันที่อยากทำในงาน ลองเสี่ยงกับมันบ้าง อย่าปล่อยให้การทำงานประสาคนออฟฟิศตีกรอบให้คุณไม่ได้ลงมือทำอะไรใหม่ๆ เลย 5. ให้ความช่วยเหลือคนอื่น ผมเชื่อว่าหลายๆคนมักจะเจอบรรยากาศประเภท “อย่าไปเสนอความคิดเห็นเลย ไม่ใช่เรื่องของเรา” อยู่บ่อยๆ และนั่นทำให้ในองค์กรมักเจอสถานการณ์พวกต่างคนต่างทำ แต่เอาจริงๆแล้วถ้าคุณรู้เรื่องบางเรื่องที่พอจะช่วยเหลือคนอื่นได้ มันก็คงไม่ได้แย่อะไรนักหรอกถ้าคุณจะยื่นมือเข้าไปช่วย หรือสนับสนุนคนอื่นๆ แม้ว่าเรื่องนั้นๆจะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับคุณเลยก็ตาม แน่นอนว่าการทำอย่างนั้นอาจจะถูกมองว่าเป็นพวกเสนอหน้า หรืออาจจะสร้างภาระให้กับตัวเอง แต่ในหลายๆครั้งที่คุณก้าวไปช่วยคนอื่นก็ทำให้คุณได้ผลประโยชน์ตามมาอย่างคาดไม่ถึงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมิตรภาพ ตลอดไปจนความรู้บางอย่างที่คุณอาจจะไม่มีโอกาสได้รู้ถ้ายังคงง่วนอยู่กับงานตัวเองอย่างเดียวนั่นแหละครับ Credit:http://www.nuttaputch.com/5-risks-in-working-life-that-worth-to-take/
read more

วิธีสร้างความภูมิใจในการทำงาน

ความสุขในการทำงานของเรา จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากว่าเราไม่ได้มี “ความภูมิใจ” ในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยที่มองข้ามไปไม่ได้เลยครับ เพราะนอกจากจะทำให้เราทำงานอย่างมีความสุขแล้ว ยังช่วยให้เราพรีเซนต์ตัวเองตอนสัมภาษณ์งานได้อย่างมั่นใจอีกด้วย ส่วนวิธีจะมีอะไรบ้างนั้น เราไปดูกันเลย... 1.ตั้งเป้าหมายในการทำงาน...ถือเป็นข้อแรกในการสร้างความภูมิใจเลยครับ เพราะหากไม่มีเป้าหมายกับงานที่ทำ ก็เหมือนกับการทำงานแลกเงินไปวัน ๆ พร้อมทั้งความสุขในการทำงานก็ค่อย ๆ ลดน้อยลงไปด้วยนะ ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ลองตั้งเป้าหมายดูครับ อาจจะไม่ต้องยาวถึงอนาคตอันไหล แค่เป็นแบบโปรเจคไปก็เริ่มสร้างภูมิใจในการทำงานได้แล้วครับ 2. ทำอย่างเต็มที่...คงได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ว่าเหนื่อยมากยิ่งได้มาก การที่เราลงมือทำงานของเราอย่างสุดความสามารถนั้น เมื่องานสำเร็จเสร็จสิ้น พอมองย้อนกลับไปความภูมิใจก็จะเกิดขึ้นมาได้เหมือนกัน ยิ่งถ้าเป็นงานที่ยาก หรือการข้ามผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ได้ก็ยิ่งภูมิใจใช่ไหมครับ 3. ทำในสิ่งที่รัก...ไม่ว่าใครก็ต้องมีความฝัน หรือสิ่งที่อยากจะทำกันทั้งนั้น แม้ว่าบางทีจังหวะในชีวิตจะไม่เป็นใจก็ตาม  เพียงแต่เรายังมั่นคงกับสิ่งที่เรารัก สักวันเราจะต้องไปถึง และก้าวเดินไปกับสิ่งที่เรารักอย่างภาคภูมิใจแน่นอนครับ 4. การช่วยเหลือคนอื่น...แน่นอนว่าเราไม่ได้ทำงานทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยคนเดียวครับ การที่เรารู้จักมีน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกันนั้นจะทำให้งานออกมาดี แถมยังได้ภาคภูมิใจกับความสำเร็จนั้นไปด้วยกันกับทีมอีกด้วย 5.การเลี้ยงดูบุพการี ผ่อนภาระครอบครัว.....เมื่อเรามีรายได้ เราได้นำเงินส่วนนั้นมาจุนเจือครอบครัว หรือช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ลงไปบ้าง ทำให้ท่านเหนื่อยน้อยลง ไม่ต้องมีเราไปเป็นภาระค่าใช้จ่ายของท่านอีก นี่ก็เป็นการมองย้อนที่เราควรจะภูมิใจได้เป็นอย่างดีเลยครับทั้งนี้ทั้งนั้น ความภูมิใจในงานที่ทำ ต้องไม่เกิดจากการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นด้วยนะครับ จึงจะเรียกได้ว่า ภูมิใจอย่างแท้จริง ด้วยความปราถนาดีจาก jobbkk.com และสำหรับข่าวสารดี มีสาระ พร้อมกิจกรรม เพื่อนๆ สามารถติดตามพวกเราได้ที่Youtube: https://www.youtube.com/user/jobbkkdotcomJOBBKK Facebook Fanpage: https://www.facebook.com/jobbkk
read more

สถานการณ์ปัจจุบันอันเกิดจากโรคระบาดประกันสังคมสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนเพิ่มเติมเพื่อลดความเดือดร้อนของผู้ประกันตนตามมาตรา33

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 ประกันสังคมเริ่มจ่ายเงินชดเชยกรณีว่างงาน ในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน เนื่องจากเหตุสุดวิสัย อันเกิดจากโรคระบาดติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563  สำหรับลูกจ้างผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือแรงงานที่มีนายจ้าง หลังจากได้ลงนามในกฎกระทรวงและประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ซึ่งมีจำนวนผู้ได้รับเงินรอบแรกนี้ราว 8 พันคน ผู้ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์มี 2 กรณี คือ 1 ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ผู้ประกันตนมาทำงาน กักตัว 14 วัน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ COVID – 19 2 ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ไม่ว่านายจ้างจะหยุดประกอบกิจการเอง หรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของราชการ ซึ่งทำให้ผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้าง ทั้งนี้ คุณทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ย้ำว่า ผู้ประกันตนที่จะได้รับเงินชดเชยต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ต้องไม่ถูกเลิกจ้างหรือลาออก และไม่ได้รับเงินค่าจ้างจากนายจ้าง โดยนายจ้างต้องมารับรองด้วยว่าเป็นลูกจ้างจริง และให้ข้อมูลเรื่องช่วงเวลาที่มีการหยุดงาน ซึ่งข้อมูลของลูกจ้างและนายจ้างต้องตรงกัน ผู้ประกันตนสามารถยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนได้ 2 ช่องทาง คือ 1 ยื่นขอรับผ่านออนไลน์ทางเว็บไซต์ www.sso.go.th เข้าไปที่เมนู กรอกแบบฟอร์มขอรับประโยชน์ทดแทน คลิกที่นี่ !! จากนั้นคลิกที่เมนู แบบฟอร์มขอรับประโยชน์ กรณีว่างงาน (สำหรับลูกจ้าง/ผู้ประกันตน) ระบบจะมีลิงก์แบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ ขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม กรณีว่างงาน (มาตรา 33 เท่านั้น) ให้คลิกเข้าไปกรอกข้อมูลให้ถูกต้องและครบถ้วน 2 ยื่นขอรับด้วยวิธีปกติ สามารถดาวน์โหลดแบบขอรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7) ได้ที่เว็บไซต์ www.sso.go.th โดยพิมพ์แบบออกมากรอกข้อมูลพร้อมสำเนาหน้าบัญชีธนาคาร แล้วจัดส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ หรือส่งเอกสารทางโทรสาร (FAX) ของสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร/จังหวัด/สาขากำหนด   และนายจ้างต้องเข้าไปกรอกแบบฟอร์มผ่าน www.sso.go.th เช่นกัน โดยเลือกเมนู กรอกแบบฟอร์มขอรับประโยชน์ทดแทน คลิกที่นี่ !! และคลิกที่เมนู ยืนยันการหยุดงานของลูกจ้าง อันเนื่องจากเหตุสุดวิสัย (สำหรับนายจ้าง) จากนั้นจะมีลิงก์แบบหนังสือรับรองจากนายจ้าง เพื่อยืนยันการหยุดงานของลูกจ้าง เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ให้คลิกเข้าไปกรอกข้อมูลให้ถูกต้องและครบถ้วน หรือเลือกวิธีติดต่อกับสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร/จังหวัด/สาขากำหนด  ดูข้อมูลติดต่อสำนักงานได้ที่นี่ >> https://www.sso.go.th/eform_news/assets/sso-contacts.pdf ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิสามารถยื่นอุทธรณ์กับประกันสังคมได้ภายใน 30 วัน ขอบคุณข้อมูล : FB ไทยคู่ฟ้า (รัฐบาลไทย)  ,  www.sso.go.th
read more
Top