Blog
เช็คสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเครียดมากเกินไป
เช็คด่วนสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเครียดมากเกินไป ความเครียดเป็นสิ่งที่คนเรามักจะหนีไม่ค่อยพ้นสักเท่าไร เพราะในแต่ละวันเราจะต้องพบกับความเครียดจากเรื่องต่าง ๆและเมื่อไม่ได้รับการผ่อนคลาย ความเครียดเหล่านั้นก็จะสะสมกันไปเรื่อย ๆ จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของเรา รวมถึงเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน หรือการใช้ชีวิต แต่ก่อนที่จะมันจะส่งผลร้ายกับเรามันก็ย่อมต้องส่งสัญญาณเตือนก่อนอยู่แล้ว แต่อยู่ที่ว่าเราจะรู้หรือไม่ วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาทุกท่านไปพบกับสัญญาณเตือนของความเครียด ใครที่กำลังเครียดต้องรีบเช็กด่วนแล้วล่ะ ว่าตัวเองเครียดมากเกินไปแล้วหรือเปล่า ไปดูกันเลย สัญญาณของความเครียดแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม โดยความเครียดในแต่ละกลุ่มต่างก็ส่งผลร้ายกับสุขภาพของเราไม่ว่าจะเป็นสุขภาพจิตและสุขภาพกาย ซึ่งทั้ง 4 ประเภทแบ่งออกเป็นดังนี้ 1. อาการทางด้านเชาว์ปัญญา เมื่อเกิดความเครียดขึ้น สมองของเรามักจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก และเมื่อส่งผลกับสมองแล้วก็จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของสมองเกิดความผิดปกติ ตัวอย่างเช่น มีปัญหาเรื่องความจำ ความเครียดเปรียบเสมือนหมอกหนาที่อยู่ในหัวของเรา เมื่อเราเกิดความเครียด มันก็จะบดบังสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในหัวของเราจนทำให้เรากลายเป็นคนขี้ลืม เช่น อาจจะหลงลืมกับเรื่องเล็ก ๆ สมาธิลดลง ความเครียด ส่งผลให้เรามีสมาธิน้อยลง นอกจากนี้ยังทำให้ความอดทนของเราต่ำลงมากกว่าปกติจนบางครั้งเราอาจจะเกิดอาการหงุดหงิดและเอะอะโวยวาย เนื่องจากไม่สามารถเพ่งความสนใจไปกับการทำงานได้ วิตกกังวล ความวิตกกังวลก็เป็นความเครียดชนิดหนึ่งที่ส่งผลทำให้คุณรู้สึกเหมือนว่าตนเองกำลังทำผิดพลาด และทำให้คุณไม่มั่นใจในสิ่งที่ทำ หรือหวาดกลัวกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แก้ไขปัญหาได้ไม่ดีเท่าที่ควร เช่นเดียวกับการตัดสินใจ เมื่อคนเรามีความเครียด สมองของเราจะทำงานได้ช้าลง ความคิดสร้างสรรค์และไอเดียต่าง ๆ ก็จะลดลง จนทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้ง ๆ ที่ ปัญหาอาจจะไม่ใหญ่โต
2. อาการทางด้านอารมณ์
จะสังเกตได้ว่าเมื่อเกิดความเครียด คนเราจะมีอารมณ์ที่แปรปรวนและไม่คงที่อยู่ตลอดเวลา บางรายอาจจะอารมณ์ร้ายมากขึ้นกว่าเดิม หรือไม่ก็มีอาการซึมเศร้าจนเห็นได้ชัด ซึ่งอาการที่เกิดจากความเครียดที่ส่งผลต่ออารมณ์มีดังนี้
- อารมณ์แปรปรวน
คงไม่มีใครอยากจะเป็นคนที่อารมณ์แปรปรวนตลอดเวลา เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย แต่บางครั้งความเครียดก็ทำให้เรารู้สึกอารมณ์แปรปรวนได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากเครียดละก็ ควรจะรีบตั้งสติให้ได้นะคะ ไม่อย่างนั้นอารมณ์ที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายอาจจะส่งผลกับการทำงานได้
-ฉุนเฉียว
เคยเป็นไหมคะ เวลาที่เรารู้สึกเครียด ไม่ว่าอะไรก็รู้สึกขัดหูขัดตาไปเสียหมด จนทำให้เราอาจจะเหวี่ยงใส่คนรอบข้างโดยที่ไม่รู้ตัว ดังนั้นเมื่อเกิดความเครียดควรจะใจเย็นให้มาก ๆ เลย
-ซึมเศร้าและร้องไห้
อาการซึมเศร้าเป็นสิ่งที่จะมักจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดความเครียด บางคนเลือกใช้การร้องไห้เป็นการระบายความอัดอั้นในใจออกมา ซึ่งถึงแม้ว่าจะช่วยได้บ้างแต่ตราบใดที่ไม่หายเครียดก็ไม่อาจหนีจากความซึมเศร้าพ้นอย่างแน่นอน
-รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว
ความเครียดอาจส่งผลทำให้หลายคนปลีกตัวเองออกจากสังคมโดยไม่รู้ตัว จนรู้สึกเหมือนอยู่อย่างโดดเดี่ยว และการอยู่เพียงคนเดียวตามลำพังในภาวะความเครียดนั้นอาจส่งผลทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าตามมาได้อีกด้วย
3. อาการทางด้านร่างกาย (Physical Symptoms) สัญญาณเตือนที่ชัดเจนที่สุดของอาการเครียดมักแสดงออกให้เห็นทางร่างกาย โดยอาการทางร่างกายจะเริ่มทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นจนอาจถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล อาการส่วนใหญ่ที่พบมีดังนี้ค่ะ ปวดหัว ความเครียดจะส่งผลทำให้เกิดอาการปวดหัว ซึ่งบางรายอาจจะมีอาการปวดไหล่และคอร่วมด้วย หรือบางรายก็อาจจะเกิดอาการปวดหัวร้ายแรง อย่างไมเกรนได้ค่ะ ผมร่วง ความเครียดอย่างรุนแรงจะทำให้เส้นผมที่อยู่ในช่วงการเติบโตหยุดการเจริญเติบโตอย่างกะทันหันและหลังจากนั้น 2 - 3 เดือนเส้นผมเหล่านั้นก็จะหลุดร่วงจากศีรษะค่ะ หนังตากระตุก อาการหนังตากระตุกหลายคนมักเชื่อว่ามันเป็นลางบอกเหตุ แต่จริง ๆ เวลาที่คนเราเครียดก็อาจจะทำให้หนังตากระตุกได้เช่นกัน กินจุบจิบไม่หยุด หลายคนยิ่งเครียดก็ยิ่งกินจุบกินจิบ และยิ่งหากไม่มีการออกกำลังกายร่วมด้วยก็จะทำให้น้ำหนักขึ้นได้ง่าย ๆ เลยล่ะค่ะ ปวดตามบริเวณต่าง ๆของร่างกาย ความเครียด มักทำให้เกิดอาการอ่อนล้าตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะเกิดอาการปวดที่บริเวณ ไหล่ คอ และหลัง ผิวพรรณหม่นหมอง ความเครียดเรื้อรังสามารถทำให้ผิวพรรณหมองคล้ำลงได้ เพราะฮอร์โมนความเครียดจะไปทำให้ ทีโลเมียร์ ที่อยู่ส่วนปลายของดีเอ็นเอสั้นลง ทำให้ดีเอ็นเอไม่สามารถแบ่งตัวได้อย่างสมบูรณ์ส่งผลทำให้เกิดริ้วรอย และผิวพรรณหมองคล้ำก่อนวัย หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความเครียดจะส่งผลทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นมากกว่าเดิม ซึ่งโดยปกติคนเราจะมีอัตราการเต้นหัวใจอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที ซึ่งถ้าหากเกิดความเครียดสะสมและเรื้อรังเป็นเวลานานอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ความเครียดจะแสดงออกมาให้เห็นในรูปแบบของเหงื่อ เพราะเมื่อเกิดความเครียดจะทำให้ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจนร่างกายขับเหงื่อออกมา ดังนั้นยิ่งคุณมีความกดดันก็จะยิ่งทำให้เหงื่อไหลออกมากถึงแม้ว่าคุณจะไม่รู้สึกร้อนก็ตาม ระบบขับถ่ายมีปัญหา มื่อฮอร์โมนคอร์ติซอลหรือฮอร์โมนความเครียดในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น ระบบย่อยอาหารของคุณจะไปทำร้ายระบบลำไส้ของคุณเอง ซึ่งจะทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบขึ้นได้จากความเครียด แถมระบบย่อยอาหารก็ยังไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้ดีเท่าที่ควรอีกด้วย คลื่นไส้ เวียนหัว อาการคลื่นไส้เวียนหัวเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากความเครียด โดยปกติแล้วจะมีแค่เพียงอาการคลื่นไส้และเวียนหัว แต่ถ้าหากอาการรุนแรงขึ้นจนเครียดลงกระเพาะก็อาจทำให้อาเจียนได้ ความเครียดจะทำให้ระบบฮอร์โมนเพศลดลง จนทำให้ความต้องการทางเพศลดตามลงไปด้วย แต่ฮอร์โมนเหล่านี้จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อเราหายเครียด อาการภูมิแพ้กำเริบ โรคภูมิแพ้เป็นหนึ่งในวิธีการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งการตอบสนองนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดความเครียด โดยจะส่งผลร้ายแรงต่อร่างกายทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น
4. อาการที่ส่งผลต่อพฤติกรรม ความเครียด นอกจากจะส่งผลต่อร่างกาย สมอง และอารมณ์แล้ว ก็ยังส่งผลทำให้พฤติกรรมในการใช้ชีวิตบางอย่างของเราเปลี่ยนไป ซึ่งถ้าหากปล่อยเรื้อรังอาจจะทำให้ติดกลายเป็นนิสัยได้ โดยส่วนใหญ่เราเมื่อเราเครียดจะเกิดพฤติกรรมดังต่อไปนี้ รับประทานมากขึ้นหรือน้อยลง สำหรับบางคน ความเครียดอาจจะทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร และสำหรับบางคนอาจจะทำให้ยิ่งต้องหาของหวานมารับประทาน ซึ่งการรับประทานของหวานมากเกินไปอาจจะทำให้อ้วนได้ เมื่อเรารู้สึกกังวล สมองของเราจะตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้นอนไม่หลับ และจะส่งผลทำให้คุณอ่อนเพลีย ทำงานได้ไม่เต็มที่ และการที่พักผ่อนไม่เพียงพอเป็นเวลานาน อาจจะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ ความเครียด ส่งผลทำให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นน้อยลงเนื่องจากเราจะเอาแต่สนใจกับสิ่งที่เราเครียดเพียงอย่างเดียวจนทำให้ดูเหมือนว่าปลีกแยกตัวเองออกจากสังคมได้ค่ะ ใช้ยาเสพติด บุหรี่ หรือแอลกอฮอล์มากขึ้น หลายคนเมื่อเกิดความเครียดและไม่สามารถหาทางออกได้ก็มักจะไปพึ่งแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้หายเครียดได้ เพียงแต่ลดความเครียดได้ชั่วคราวเท่านั้น แถมยังส่งผลร้ายต่อสุขภาพอีกด้วย รู้สึกอ่อนเพลียตลอดเวลา เมื่อเรารู้สึกกดดัน เราก็จะรู้สึกอ่อนเพลียและเหนื่อยล้า ดังนั้นเมื่อคุณรู้สึกเครียดลองลุกขึ้นเดินไปรอบ ๆ เพื่อให้ผ่อนคลายก็จะทำให้หายอ่อนเพลียได้ค่ะ ทำผิดพลาดแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ ความสามารถต่าง ๆ ของคุณจะถูกคุกคามอย่างรุนแรงเมื่อเกิดความเครียด จนทำให้ศูนย์การรับรู้ของสมองไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และทำให้คุณทำเรื่องผิดพลาดเอาได้ง่าย ๆ ความเครียด เป็นสิ่งที่ไม่ว่าอย่างไรมันก็ไม่ดีต่อร่างกายของเราเลยสักนิด ดังนั้นจึงควรที่จะควบคุมความเครียดของเราให้ได้ โดยการทำสมาธิและการมองโลกในแง่ดี นอกจากนี้ยังสามารถผ่อนคลายความเครียดได้ด้วยการออกกำลังกาย หรือหากิจกรรมที่คุณชื่นชอบทำก็ได้ค่ะ อย่าปล่อยให้ความเครียดส่งผลกับร่างกายอย่างเรื้อรัง เพราะอาจจะทำให้เกิดโรคร้ายแรงกับคุณได้นะคะ ขอบคุณข้อมูลจาก
helpguide.org
cdc.gov
womenshealthmag.com
lifehack.org
kapook.com