Blog
เปิดสถิติ “แรงงานไทย” พบ 5.3 แสนคน ทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
เปิดสถิติ “แรงงานไทย” พบ 5.3 แสนคน ทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
สำนักงานสถิติเปิดเผยข้อมูลสถานการณ์แรงงานไตรมาส 4 ปี 64 ผู้เสมือนมีแนวโน้มการว่างงานเพิ่มขึ้น ผู้ทำงานต่ำกว่า 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพิ่มมีมากถึง 5.3 แสนราย สถานการณ์การว่างงานมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น ผู้ว่างงานลดลงจาก 8.7 แสนคน ในไตรมาส 3 เหลือ 6.3 แสนคนในไตรมาส 4
นางปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ไตรมาส 4 ปี 2564 และตัวชี้วัดด้านแรงงานที่สำคัญ ว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โครงสร้างตลาดแรงงานไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากผู้ประกอบการลดการจ้างแรงงานลงและเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แรงงานถูกเลิกจ้างหรือถูกพักงานโดยไม่มีรายได้หรือลดรายได้จากการลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน รวมถึงแรงงานที่จบการศึกษาใหม่ๆ มีแนวโน้มที่จะประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น
สำนักงานสถิติแห่งชาติติดตามสถานการณ์แรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยลงพื้นที่สำรวจภาวะการทำงานของประชากรทั่วประเทศ ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เป็นข้อมูลดัชนีชี้วัดตลาดแรงงานที่สำคัญ เช่น การมีส่วนร่วมของกำลังแรงงาน การจ้างงาน และผลิตภาพแรงงาน เป็นต้น
จากผลสำรวจพบว่าโครงสร้างกำลังแรงงานไตรมาส 4 ปี 2564 ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป 57.2 ล้านคน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 38.6 ล้านคน และในจำนวน 38.6 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 37.9 ล้านคน (ไตรมาส 3 จำนวน 37.7 ล้านคน) ผู้ไม่มีงานทำ 6.3 แสนคน (ไตรมาส 3 จำนวน 8.7 แสนคน) และเป็นผู้รอฤดูกาลประมาณหนึ่งแสนคน ส่วนผู้ที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวน 18.5 ล้านคน โดยอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานไตรมาส 4 ปี 2564 คือ 67.6%
สถานการณ์แรงงานไตรมาส 4 ปี 2564 มีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2564 ภายหลังจากมาตรการด้านโควิดของรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายขึ้น แรงงานมีงานทำมากขึ้น และมีการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับเข้ามาสู่ภาคการบริการและการค้า และภาคการผลิต อัตราการมีงานทำอยู่ที่ 66.3% โดยส่วนใหญ่ทำงานในภาคการบริการและการค้า (45.1%) รองลงมาคือ ภาคเกษตรกรรม และภาคการผลิต ตามลำดับ (33.2% และ 21.6%) อาชีพกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง เป็นกลุ่มอาชีพที่มีอัตราการมีงานทำมากที่สุด รองลงมาคือ พนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า เมื่อวิเคราะห์เชิงลึก พบว่า อาชีพกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง มีอัตราการมีงานทำสูงที่สุด
ทั้งนี้เป็นการทำงานที่มีจำนวนชั่วโมงการทำงานในรอบสัปดาห์ที่น้อยกว่า 10 ชั่วโมง (49.3%) และน้อยกว่า 1 ชั่วโมง (39.8%) คิดเป็นจำนวนแรงงานกว่า 5.3 แสนคน มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพกลุ่มอื่น สำหรับกลุ่มอายุที่มีงานทำสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 45-54 ปี 35-44 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ โดยอัตราการมีงานทำอยู่ระหว่าง 21 – 24% ในขณะที่การมีงานทำของเยาวชนหรือผู้ที่มีอายุ 15-24 ปี อัตราการมีงานทำประมาณ 9%
“แนวโน้มผู้เสมือนว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มผู้ที่มีงานทำภาคเกษตรกรรม 0-20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และกลุ่มผู้ที่มีงานทำนอกภาคการเกษตรกรรม 0-24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เรียกว่า ผู้เสมือนว่างงาน จากผลสำรวจในไตรมาส 4 ปี 2564 มีจำนวน 2.6 ล้านคน เพิ่มจากไตรมาส 3 ปี 2564 สองแสนหกหมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอาชีพในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ว่างงานในอนาคตได้”
เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงระหว่างไตรมาสเพื่อศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคอุตสาหกรรมนั้น จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้มีงานทำภาคการบริการและการค้า และภาคการผลิตระหว่างไตรมาส 3 และ 4 ปี 2564 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น คือ 1.3% และ 0.6% ตามลำดับ
ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของผู้มีงานทำลดลง (-0.7%) และเมื่อเปรียบเทียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนหน้า (ไตรมาส 4 ปี 2563) พบว่า ผู้มีงานทำในภาคการบริการและการค้า และภาคการผลิต มีอัตราเปลี่ยนแปลงผู้มีงานทำลดลง (-1.2% และ -4.0%)
ผู้มีงานทำในไตรมาส 4 ปี 2564 ที่มีจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ 35-49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 50 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2563 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เมื่อพิจารณาชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ของผู้มีงานทำน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พบว่า มีจำนวน 6.95 ล้านคน เป็นกลุ่มไม่ประสงค์ทำงานเพิ่ม 6.51 ล้านคน และประสงค์ทำงานเพิ่ม 0.44 ล้านคน สำหรับผู้ที่มีจำนวนชั่วโมงทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และประสงค์ที่จะทำงานเพิ่มนั้น เรียกว่า ผู้ทำงานต่ำระดับด้านเวลา คิดเป็น 1.2 % ส่วนผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (โอกาสเป็นผู้ว่างงานแฝง) คิดเป็นร้อยละ 1.9
ส่วนสถานการณ์การว่างงานมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น ผลสำรวจพบว่า ผู้ว่างงานลดลงจาก 8.7 แสนคน ในไตรมาส 3 เหลือ 6.3 แสนคนในไตรมาส 4 เป็นผลต่อเนื่องมาจากมาตรการภาครัฐที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศในพื้นที่ท่องเที่ยวในจังหวัดสำคัญๆ โดยระยะการว่างงานของ ผู้ว่างงาน ประมาณ 62% เป็นการว่างงานระยะกลาง และเป็นการว่างงานของเยาวชนมากที่สุด ในจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด แบ่งเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 3.8 แสนคน และไม่เคยทำงานมาก่อน 2.5 แสนคน
โดยผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน มีแนวโน้มว่าจะเป็นนักศึกษาจบใหม่ โดยจากสถิติการศึกษาในแต่ละปีมีผู้สำเร็จการศึกษาในทุกระดับประมาณสามแสนคน และเมื่อสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมในการหางาน หรือสมัครงานของ ผู้ว่างงานทั้งที่เคยทำงานก่อน และไม่เคยทำงานมาก่อน พบว่าในช่วง 8-30 วันที่ผ่านมา มีการหางานและสมัครงาน ประมาณร้อยละ 50 (ไม่เคยทำงานมาก่อน 54.5% เคยทำงานมาก่อน 46.9%)
อย่างไรก็ตามปัญหาการว่างงานระยะยาว ยังต้องจับตามอง ปัญหาการว่างงานระยะยาว หรือ การว่างงานที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนระดับปัญหาการว่างงานของประชากร โดยในไตรมาส 4 อัตราการว่างงานระยะยาวในสัดส่วนที่สูง คือ 0.4 % ในขณะที่ไตรมาส 3 อยู่ที่ 0.2 % นอกจากนี้ ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่การว่างงานระยะยาวเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุ 15-24 ปี รองลงมา คือ ผู้ที่มีอายุ 25-34 ปี