Blog

วิธีจ้างคนออก รักษาคนเก่ง ในสไตล์แบบ NETFLIX

วิธีจ้างคนออก รักษาคนเก่ง ในสไตล์แบบ NETFLIX

ในหนังสือ No Rules Rules ที่เขียนโดย Reed Hastings ผู้ร่วมก่อตั้ง NETFLIX เคยพูดถึงวัฒนธรรมการทำงานของ NETFLIX เอาไว้ว่า จุดที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จมาจนถึงวันนี้ได้ คือการมีกฎให้น้อยที่สุด 

NETFLIX เป็นบริษัทที่เน้นให้พนักงานแต่ละคนมีอิสรภาพและเสรีภาพในการทำงาน ส่วนข้อกำหนดกฎระเบียบที่มีขึ้นเพื่อควบคุม จะมีให้น้อยที่สุด 

เพราะเชื่อมั่นว่าพนักงานที่เข้ามาทำงานเป็นผู้ใหญ่ มีวุฒิภาวะ มีความรับผิดชอบ ไม่ใช่เด็กๆ ที่ต้องคอยออกกฎมาควบคุม

ยกตัวอย่างนโยบายการใช้เงินของ NETFLIX
ในบริษัทจะมีนโยบายกว้างๆ บอกเอาไว้เลยว่า พนักงานจะทำอย่างไรก็ได้ แต่ขอให้บริษัทได้ประโยชน์สูงสุด (Act in Netflix’s best interests) 

ปรากฏว่า เวลาที่มีการประชุมต่างเมือง ทางบริษัทจะให้พนักงานกดจองตั๋วเครื่องบินเอง แล้วค่อยเอามาเบิกกับบริษัท สุดท้ายทำให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก เพราะไม่ต้องเอาเงินไปจ้างเอเย่นต์อีกต่อหนึ่ง

แต่การจะทำแบบนี้ได้ พนักงานของ NETFLIX จะต้องมีจุดร่วมกันคือ ‘วัฒนธรรมที่เชื่อใจกันขั้นสูง’ (high trust culture)

วัฒนธรรมแบบนี้ ทำให้ NETFLIX สามารถบริหารจัดการคนและองค์กรได้ดี และรวมไปถึงการคัดคนใหม่ๆ เข้ามาในบริษัทที่ตรงสเป็คได้ด้วย

วิธีรักษาสภาพแวดล้อม ให้คนเก่งอยากทำงานกับ NETFLIX

คนเราถ้าทำงานด้วยความเชื่อใจ จะทำอะไรก็ง่าย ไม่ต้องมีกฎเยอะแยะให้วุ่นวาย

Patty McCord ที่ปรึกษาคนสำคัญผู้ปลุกปั้นวัฒนธรรมการทำงานของ NETFLIX บอกว่า สิ่งสำคัญของการบริหารคน เริ่มต้นมาตั้งแต่การคัดเลือก 

เพราะการจะจ้างใครสักคนเข้ามาในบริษัท ต้องมั่นใจได้ว่า เขาจะเอาผลประโยชน์ขององค์กรเป็นที่ตั้ง และการได้คนแบบนี้มา องค์กรก็ไม่ต้องสร้างกฎมาควบคุมเยอะ และในท้ายที่สุดวัฒนธรรมที่ดีจะเกิดขึ้นตามมา

“ถ้าเราจ้างพนักงานที่คิดถึงผลประโยชน์ของบริษัทมาได้จริงๆ พนักงานส่วนใหญ่ร้อยละ 97% จะเลือกทำสิ่งที่ถูกต้องเสมอ เพราะฉะนั้นแล้ว HR ก็ไม่จำเป็นจะต้องมาเขียนกฎระเบียบอะไรมากมาย เพื่อใช้บังคับกับคนส่วนน้อยแค่ 3% ที่เหลือ”

ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมาในอนาคต “เราจึงทุ่มเทที่จะไม่จ้างกลุ่มคน 3% นี้ตั้งแต่แรก” 

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้ามาพบทีหลังว่า NETFLIX ไปจ้างคนกลุ่ม 3% นี้เข้ามาในบริษัทจริงๆ สิ่งที่ทำก็คือ ทางบริษัทจะจ้างพวกเขาเหล่านี้ออก และจ่ายเงินชดเชยที่เหมาะสมให้

แต่นอกจากประเด็นนี้ NETFLIX ก็ยังใช้วิธีจ้างคนออกจากบริษัทในแบบอื่นด้วย โดยบอกไว้ว่า ถ้าพนักงานคนไหนมีผลงานไม่เข้าตาอย่างต่อเนื่อง และยิ่งถ้าได้รับการตักเตือนแล้ว แต่ไม่ได้ปรับปรุงตัว ก็ให้เตรียมโบกมือลาบริษัทได้เลย

รู้หรือไม่ว่า วิธีคัดคนออกจากบริษัทในสไตล์ NETFLIX ที่ McCord มีส่วนสร้างขึ้น สุดท้ายมันก็กลับมาทำร้ายตัวเธอเอง เพราะเธอเคยถูกจ้างออกจากบริษัทในปี 2012 

นี่ถือเป็นตัวอย่างที่สะท้อนการทำงานแบบ NETFLIX ที่ผู้ก่อตั้งเน้นย้ำเสมอว่าต้องการเป็น “ทีมกีฬามืออาชีพ” 

นั่นหมายความว่า ในช่วงแรกที่ทีมยังไม่แข็งแกร่ง ทีมต้องการตัวเธอ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป สิ่งที่เธอร่วมสร้าง ทำให้ทีมมีความมั่นคง และสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้ว 

ทีมหรือองค์กรจึงไม่ต้องการ ‘ผู้เล่น’ อย่างเธออีกต่อไป

นี่คือวิธีที่ NETFLIX ใช้บริหารคน เพื่อขับเคลื่อนองค์กร

การจ้างคนออก เพื่อรักษาคนเก่ง ถือเป็นหนึ่งในท่าไม้ตายสำคัญของการบริหารคน ที่ทำให้ NETFLIX ประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ได้

ตอนนี้ NETFLIX เป็นบริษัทที่มีมูลค่ากิจการสูงถึง 1.7 แสนล้านดอลลาร์ นับเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 69 ของโลก

แต่ถึงอย่างนั้น หลายคนก็บอกว่า วิธีการบริหารคนแบบ NETFLIX ที่ว่ามานี้ มันดูโหดร้าย และอาจใช้ไม่ได้ เพราะมันไม่เหมาะกับทุกสังคม ไม่เหมาะกับทุกบริษัท..

วิธีคัดคนออกแบบ NETFLIX โหดจริงหรือเปล่า?

ข้อมูลจากคนวงในที่ทำงานใน NETFLIX อย่าง ‘ปัณฑารีย์ สุคัมภีรานนท์’ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดเน็ตฟลิกซ์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ให้สัมภาษณ์กับ workpointTODAY ในประเด็นการคัดคนออกของ NETFLIX ว่าทำไมดูโหดร้าย แล้วการเอาคนออกจากบริษัทเยอะขนาดนี้ ถึงที่สุด จะทำให้บริษัทไม่มั่นคงหรือเปล่า?

ปัณฑารีย์ บอกว่า คำถามลักษณะนี้เคยมีพนักงานของ NETFLIX เอาไปถามผู้บริหาร และคำตอบที่ได้คือ 

“เอาจริงๆ แล้ว เวลาที่เราเอา ‘ตัวเลข’ มาดู จะพบว่า อัตราพนักงานที่ออกจากบริษัท NETFLIX ในออฟฟิศที่สิงคโปร์ ไม่ได้ต่างจากบริษัทอื่นๆ เลย” 

ปัณฑารีย์ บอกอีกด้วยว่า “ถ้าใช้ตัวเลขมาวัดกันจริงๆ นี่ก็ถือเป็นมุมมองใหม่ ที่ทำให้รู้สึกว่า นโยบายที่ดูสุดโต่งของ NETFLIX แท้ที่จริงแล้ว กลับพบว่า มันไม่ใช่แบบนั้น เพราะตัวเลขการออกจากบริษัท (Turnover Rate) แทบไม่ต่างจากบริษัทอื่นเลย”

ปิดท้ายด้วยข้อมูลน่าสนใจ ด้วยสไตล์การจ้างงานแบบ NETFLIX ที่เน้นคัดคนไม่เก่งออก และทุ่มเทดูแลคนเก่งๆ เพื่อให้เกิดความเชื่อใจในการทำงานแบบขั้นสุด ทั้งหมดนี้มันนำไปสู่นโยบายล้ำๆ อย่างการลาพักร้อนได้ไม่จำกัดของบริษัท ตามไปอ่านได้ที่ กรณีศึกษา นโยบายให้ ‘วันลาไม่จำกัด’ ของพนักงาน NETFLIX https://workpointtoday.com/unlimited-vacation-policy/ 

อ้างอิงข้อมูล 

– วัฒนธรรมการจ้างคนของ NETFLIX https://www.forbes.com/sites/kevinkruse/2016/09/05/netflix-has-no-rules-because-they-hire-great-people

– https://workpointtoday.com/powerful-netflix-patty-mccord/  

– มูลค่าบริษัท https://companiesmarketcap.com/netflix/marketcap/  อ้างอิง ณ วันที่ 28 ก.พ. 2565

– ข้อมูลบางส่วนจาก workpointTODAY ที่สัมภาษณ์คนไทยที่ทำงานในบริษัท NETFLIX สำนักงานสิงคโปร์ https://youtu.be/RZdYa_9efZk 

ขอบคุณ บทความจาก : ธงชัย ชลศิริพงษ์  (https://workpointtoday.com/writer/thongchai-cholsiripong/)

  • Share :

Article

5การเสี่ยงในชีวิตการทำงานที่คุณควรลองทำดู

การเสี่ยงคงเป็นเรื่องที่พูดให้ลองก็เหมือนจะง่ายแต่ทำจริงๆ ก็คงจะยากอยู่เหมือนกัน ผมเองเขียนเรื่องการพัฒนาตัวเองซึ่งประเด็นว่าด้วยการเสี่ยงก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ แต่ก็ใช่ว่าทำได้ง่ายๆ และพอมาเป็นเรื่องของหน้าที่การงานหรือการตัดสินใจในการทำงานก็จะยิ่งแล้วใหญ่ (เพราะมันก็เกี่ยวกับอนาคตของคนเลยก็ว่าได้) วันก่อนผมก็ไปอ่านบทความของ The Muse ว่าด้วยการเสี่ยง (หรือการตัดสินใจ) บางอย่างในการทำงานซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเสี่ยงอยู่มาก แต่ก็เป็นเรื่องที่คุณควรจะลองเสี่ยงอยู่เหมือนกัน (ในบทความถึงกับใช้คำว่าถ้าคุณไม่เสี่ยงจะเสียใจเลยทีเดียว) เลยขอหยิบเอาแนวคิดจากบทความนั้นมาเล่าสู่กันฟังพอเป็นไอเดียให้พิจารณาแล้วกันนะครับ 1. จ้างหรือให้โอกาสคนที่ไม่น่าจ้าง เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าคุณควรเลือกคนประเภทสุดขั้วชนิดไม่ควรเอามาทำงานหรอกนะครับ แต่มันหมายถึงการลองมองเห็นความสามารถของคนมากไปกว่า Resume ที่ส่งเข้ามาให้คุณกรองต่างหาก เรื่องนี้มีสถิติน่าสนใจเพราะ Jeff Harden ซึ่งเป็นคนเขียนบทความนั้นทำแบบสอบถามบรรดาผู้ประกอบการต่างๆ ซึ่งก็พบว่าหนึ่งในบรรดาลูกจ้างที่โดดเด่นชนิดเป็นเพชรของบริษัทคือคนประเภทที่ตอนสมัครนั้นไม่ใช่พวกที่ตรงกับ Qualification เลย เรื่องความสามารถของพนักงานนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าคิดอยู่พอสมควร เพราะคนส่วนใหญ่มักมองเรื่องทักษะและประสบการณ์เป็นส่วนสำคัญในการคัดเลือก ทำให้เรามักมองหาคนจากประวัติการศึกษาและประวัติการทำงาน แต่หลายๆ ทีเราจะเจอคนเก่งๆ ที่ประสบการณ์ยังน้อยแต่เต็มไปด้วย “ไหวพริบ” “ทัศนคติ” และ “วิสัยทัศน์” ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาได้จากประวัติการทำงานเลย และนี่อาจจะเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่คุณอาจจะต้องคิดกันเสียหน่อยเวลาหาคนมาทำงานให้กับองค์กรของคุณครั้งต่อไปล่ะ 2. ขอโทษกับความล้มเหลวที่เกิดขึ้น บางครั้งเรามักจะเจอสถานการณ์ที่ได้ทำความผิดพลาดครั้งใหญ่ไปจนประเภทอยากจะมุดดินหนี ไม่กล้าที่จะขอโทษเพราะมันจะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์หรือประวัติของเราแย่ แต่ก็อีกนั่นแหละที่บางครั้งการขอโทษอาจจะทำให้คุณได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าก็ได้ (อันที่จริงการขอโทษไม่ใช่เรื่องแย่แต่อย่างใดเลยด้วยซ้ำ) แม้ว่าการยอมรับความผิดพลาดนั้นจะทำให้คุณดูแย่ในสายตาหลายๆคน จะทำให้คุณต้องพบกับความอับอาย แต่เชื่อเถอะว่าต่อให้คุณไม่ได้รับผิดมันก็แย่อยู่แล้ว การที่คุณกล้าเสี่ยงขอโทษนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ทำให้ตัวคุณหลุดจากบ่วงหรือความอึดอัดหลายอย่างได้ในภายหลัง ผมลองคิดๆดูแล้ว ชีวิตคนเรามีหลายสิ่งที่เป็นความทรงจำฝังใจ และมันมักทำให้เรารู้สึกจี๊ดใจเวลานึกถึงอยู่เหมือนแผลที่ไม่เคยถูกรักษา ซึ่งมันก็อาจจะดีกว่าถ้าคุณต้องเจ็บสักครั้งแต่ทำให้แผลนั้นหายหรือไม่ติดค้างอะไรอีกต่อไปนั่นแหละ 3. เผชิญหน้ากับสิ่งที่คุณกลัวที่สุด คนเราล้วนมีความกลัว ล้วนมีบางเรื่องที่รู้สึกไม่มั่นใจเป็นเรื่องธรรมดา การงานก็เช่นกันที่คุณจะมีงานที่คุณกลัวที่จะทำ หรือกับสายงานที่คุณลำบากใจหากต้องไปยุ่ง แต่ก็อย่างว่าแหละครับว่าในบรรดาสิ่งที่คุณกลัวหรือคุณไม่กล้าเผชิญนั้นก็ย่อมแฝงไว้ด้วยโอกาสซึ่งคุณไม่เคยเข้าไปแตะต้องมัน และถ้าคุณกล้าจะเสี่ยงไปเผชิญหน้าหรือลองทำมันแล้ว ดีไม่ดีมันจะออกมากลายเป็นว่าคุณได้โอกาสอย่างไม่น่าเชื่อเลยก็ได้ เรื่องนี้ก็อาจจะเป็นสิ่งน่าคิดว่าคนทำงานเก่งๆนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีเรื่องที่กลัว เพียงแต่เขารู้ว่าการอยู่กับความกลัวตลอดไปไม่น่าจะใช่คำตอบเสียทีเดียว พวกเขาเลยลองทำโน่นทำนี่ กล้าที่จะเสี่ยงกับบางอย่างใหม่ๆที่อาจจะไม่เคยทำ (และบางอย่างก็เป็นสิ่งที่เขากลัวด้วย) และการที่เขาลองทำอะไรนี่แหละทำให้ศักยภาพของเขามากขึ้นกว่าเดิมเรื่อยๆและสุดท้ายกลายเป็นว่าเขาสามารถทำสิ่งต่างๆได้มากมายกว่าคนทั่วๆไปนั่นแหละครับ 4. ทำในสิ่งที่คุณอยากทำแม้ว่าจะไม่ตรงกับสิ่งที่คนอื่นคาดหวัง เรามักเห็นบ่อยๆว่าไอเดียบรรเจิดๆของคนๆหนึ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จนั้นเป็นอะไรที่ “ผ่าเหล่า” บ้างก็ชนิดคนทั่วไปคงร้องยี้หรือเบือนหน้าหนี แน่นอนว่าปรกติแล้วคนรอบข้างคุณก็มักจะมีความเห็นหลายๆอย่างซึ่งก็จะมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับคุณแต่ก็นั่นแหละที่ถ้าคุณเอาแต่ฟังคนอื่นเพื่อมาคอยคอนเฟิร์มคิดอยู่ตลอดก็คงจะไม่ใช่เรื่องเข้าท่าสักเท่าไร บางเรื่องเป็นสิ่งที่คุณรู้สึกอยู่ลึกๆหรือเป็นประเภทที่ตัวตนของคุณร่ำร้องว่าต้องทำอย่างนั้น และคุณก็ควรจะลองเสี่ยงไปกับมันแทนที่จะรอฟังความเห็นคนอื่นๆ (ซึ่งก็มักจะเป็นตัวเบรกนั่นแหละ) ถ้าคุณรู้สึกกับอะไรมากๆหรือมีความฝันที่อยากทำในงาน ลองเสี่ยงกับมันบ้าง อย่าปล่อยให้การทำงานประสาคนออฟฟิศตีกรอบให้คุณไม่ได้ลงมือทำอะไรใหม่ๆ เลย 5. ให้ความช่วยเหลือคนอื่น ผมเชื่อว่าหลายๆคนมักจะเจอบรรยากาศประเภท “อย่าไปเสนอความคิดเห็นเลย ไม่ใช่เรื่องของเรา” อยู่บ่อยๆ และนั่นทำให้ในองค์กรมักเจอสถานการณ์พวกต่างคนต่างทำ แต่เอาจริงๆแล้วถ้าคุณรู้เรื่องบางเรื่องที่พอจะช่วยเหลือคนอื่นได้ มันก็คงไม่ได้แย่อะไรนักหรอกถ้าคุณจะยื่นมือเข้าไปช่วย หรือสนับสนุนคนอื่นๆ แม้ว่าเรื่องนั้นๆจะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับคุณเลยก็ตาม แน่นอนว่าการทำอย่างนั้นอาจจะถูกมองว่าเป็นพวกเสนอหน้า หรืออาจจะสร้างภาระให้กับตัวเอง แต่ในหลายๆครั้งที่คุณก้าวไปช่วยคนอื่นก็ทำให้คุณได้ผลประโยชน์ตามมาอย่างคาดไม่ถึงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมิตรภาพ ตลอดไปจนความรู้บางอย่างที่คุณอาจจะไม่มีโอกาสได้รู้ถ้ายังคงง่วนอยู่กับงานตัวเองอย่างเดียวนั่นแหละครับ Credit:http://www.nuttaputch.com/5-risks-in-working-life-that-worth-to-take/
read more

วิธีสร้างความภูมิใจในการทำงาน

ความสุขในการทำงานของเรา จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากว่าเราไม่ได้มี “ความภูมิใจ” ในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยที่มองข้ามไปไม่ได้เลยครับ เพราะนอกจากจะทำให้เราทำงานอย่างมีความสุขแล้ว ยังช่วยให้เราพรีเซนต์ตัวเองตอนสัมภาษณ์งานได้อย่างมั่นใจอีกด้วย ส่วนวิธีจะมีอะไรบ้างนั้น เราไปดูกันเลย... 1.ตั้งเป้าหมายในการทำงาน...ถือเป็นข้อแรกในการสร้างความภูมิใจเลยครับ เพราะหากไม่มีเป้าหมายกับงานที่ทำ ก็เหมือนกับการทำงานแลกเงินไปวัน ๆ พร้อมทั้งความสุขในการทำงานก็ค่อย ๆ ลดน้อยลงไปด้วยนะ ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ลองตั้งเป้าหมายดูครับ อาจจะไม่ต้องยาวถึงอนาคตอันไหล แค่เป็นแบบโปรเจคไปก็เริ่มสร้างภูมิใจในการทำงานได้แล้วครับ 2. ทำอย่างเต็มที่...คงได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ว่าเหนื่อยมากยิ่งได้มาก การที่เราลงมือทำงานของเราอย่างสุดความสามารถนั้น เมื่องานสำเร็จเสร็จสิ้น พอมองย้อนกลับไปความภูมิใจก็จะเกิดขึ้นมาได้เหมือนกัน ยิ่งถ้าเป็นงานที่ยาก หรือการข้ามผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ได้ก็ยิ่งภูมิใจใช่ไหมครับ 3. ทำในสิ่งที่รัก...ไม่ว่าใครก็ต้องมีความฝัน หรือสิ่งที่อยากจะทำกันทั้งนั้น แม้ว่าบางทีจังหวะในชีวิตจะไม่เป็นใจก็ตาม  เพียงแต่เรายังมั่นคงกับสิ่งที่เรารัก สักวันเราจะต้องไปถึง และก้าวเดินไปกับสิ่งที่เรารักอย่างภาคภูมิใจแน่นอนครับ 4. การช่วยเหลือคนอื่น...แน่นอนว่าเราไม่ได้ทำงานทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยคนเดียวครับ การที่เรารู้จักมีน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกันนั้นจะทำให้งานออกมาดี แถมยังได้ภาคภูมิใจกับความสำเร็จนั้นไปด้วยกันกับทีมอีกด้วย 5.การเลี้ยงดูบุพการี ผ่อนภาระครอบครัว.....เมื่อเรามีรายได้ เราได้นำเงินส่วนนั้นมาจุนเจือครอบครัว หรือช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ลงไปบ้าง ทำให้ท่านเหนื่อยน้อยลง ไม่ต้องมีเราไปเป็นภาระค่าใช้จ่ายของท่านอีก นี่ก็เป็นการมองย้อนที่เราควรจะภูมิใจได้เป็นอย่างดีเลยครับทั้งนี้ทั้งนั้น ความภูมิใจในงานที่ทำ ต้องไม่เกิดจากการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นด้วยนะครับ จึงจะเรียกได้ว่า ภูมิใจอย่างแท้จริง ด้วยความปราถนาดีจาก jobbkk.com และสำหรับข่าวสารดี มีสาระ พร้อมกิจกรรม เพื่อนๆ สามารถติดตามพวกเราได้ที่Youtube: https://www.youtube.com/user/jobbkkdotcomJOBBKK Facebook Fanpage: https://www.facebook.com/jobbkk
read more

สถานการณ์ปัจจุบันอันเกิดจากโรคระบาดประกันสังคมสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนเพิ่มเติมเพื่อลดความเดือดร้อนของผู้ประกันตนตามมาตรา33

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 ประกันสังคมเริ่มจ่ายเงินชดเชยกรณีว่างงาน ในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน เนื่องจากเหตุสุดวิสัย อันเกิดจากโรคระบาดติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563  สำหรับลูกจ้างผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือแรงงานที่มีนายจ้าง หลังจากได้ลงนามในกฎกระทรวงและประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ซึ่งมีจำนวนผู้ได้รับเงินรอบแรกนี้ราว 8 พันคน ผู้ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์มี 2 กรณี คือ 1 ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ผู้ประกันตนมาทำงาน กักตัว 14 วัน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ COVID – 19 2 ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ไม่ว่านายจ้างจะหยุดประกอบกิจการเอง หรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของราชการ ซึ่งทำให้ผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้าง ทั้งนี้ คุณทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ย้ำว่า ผู้ประกันตนที่จะได้รับเงินชดเชยต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ต้องไม่ถูกเลิกจ้างหรือลาออก และไม่ได้รับเงินค่าจ้างจากนายจ้าง โดยนายจ้างต้องมารับรองด้วยว่าเป็นลูกจ้างจริง และให้ข้อมูลเรื่องช่วงเวลาที่มีการหยุดงาน ซึ่งข้อมูลของลูกจ้างและนายจ้างต้องตรงกัน ผู้ประกันตนสามารถยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนได้ 2 ช่องทาง คือ 1 ยื่นขอรับผ่านออนไลน์ทางเว็บไซต์ www.sso.go.th เข้าไปที่เมนู กรอกแบบฟอร์มขอรับประโยชน์ทดแทน คลิกที่นี่ !! จากนั้นคลิกที่เมนู แบบฟอร์มขอรับประโยชน์ กรณีว่างงาน (สำหรับลูกจ้าง/ผู้ประกันตน) ระบบจะมีลิงก์แบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ ขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม กรณีว่างงาน (มาตรา 33 เท่านั้น) ให้คลิกเข้าไปกรอกข้อมูลให้ถูกต้องและครบถ้วน 2 ยื่นขอรับด้วยวิธีปกติ สามารถดาวน์โหลดแบบขอรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7) ได้ที่เว็บไซต์ www.sso.go.th โดยพิมพ์แบบออกมากรอกข้อมูลพร้อมสำเนาหน้าบัญชีธนาคาร แล้วจัดส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ หรือส่งเอกสารทางโทรสาร (FAX) ของสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร/จังหวัด/สาขากำหนด   และนายจ้างต้องเข้าไปกรอกแบบฟอร์มผ่าน www.sso.go.th เช่นกัน โดยเลือกเมนู กรอกแบบฟอร์มขอรับประโยชน์ทดแทน คลิกที่นี่ !! และคลิกที่เมนู ยืนยันการหยุดงานของลูกจ้าง อันเนื่องจากเหตุสุดวิสัย (สำหรับนายจ้าง) จากนั้นจะมีลิงก์แบบหนังสือรับรองจากนายจ้าง เพื่อยืนยันการหยุดงานของลูกจ้าง เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ให้คลิกเข้าไปกรอกข้อมูลให้ถูกต้องและครบถ้วน หรือเลือกวิธีติดต่อกับสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร/จังหวัด/สาขากำหนด  ดูข้อมูลติดต่อสำนักงานได้ที่นี่ >> https://www.sso.go.th/eform_news/assets/sso-contacts.pdf ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิสามารถยื่นอุทธรณ์กับประกันสังคมได้ภายใน 30 วัน ขอบคุณข้อมูล : FB ไทยคู่ฟ้า (รัฐบาลไทย)  ,  www.sso.go.th
read more
Top