Blog
วันสตรีสากล วันสำคัญแห่งการยกระดับความเท่าเทียมของผู้หญิง
วันสตรีสากล วันสำคัญแห่งการยกระดับความเท่าเทียมของผู้หญิง
8 มี.ค. 2565 เป็นวันที่มีความหมายพิเศษ ในฐานะ วันสตรีสากล ซึ่งทั่วโลกให้ความสำคัญกับผู้หญิง
วันสตรีสากลเป็นการเฉลิมฉลองในวันที่ 8 มีนาคมของทุกปีทั่วโลก และเป็นจุดสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี (International Women’s Day หรือ IWD) ถือกำเนิดมาจากขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิของคนงาน จนกลายเป็นวันสำคัญประจำปีของโลกที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้การรับรอง
การเฉลิมฉลองวันสตรีสากลครั้งแรกจึงมีขึ้นในปี 1911 ที่ประเทศออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนการฉลองครบรอบ 100 ปีมีขึ้นเมื่อปี 2011 ดังนั้นในปีนี้จึงเป็นการเฉลิมฉลองวันสตรีสากลเป็นปีที่ 111 แล้ว
วันสตรีสากลได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากยูเอ็น เมื่อปี 1975 และในปี 1996 ยูเอ็นได้กำหนดคำขวัญประจำปีขึ้นเป็นครั้งแรกว่า “เฉลิมฉลองอดีต และวางแผนเพื่ออนาคต”
วันสตรีสากลได้กลายเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองความสำเร็จและความก้าวหน้าของผู้หญิงทางด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ในขณะที่รากเหง้าทางการเมืองของวันนี้คือการผละงานประท้วงเพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์เรียกร้องให้เกิดความเสมอภาคทางเพศต่อไป
สำหรับความเคลื่อนไหวในประเทศไทย น.ส.ธนวดี ท่าจีน ผู้ประสานงานคณะทำงานเครือข่ายองค์กรเด็กและสตรี พร้อมด้วยมูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิ พิทักษ์สตรี มูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ เป็นต้น เข้าพบตัวแทนรัฐบาล ยื่น 8 ข้อเสนอเร่งด่วนในโอกาสวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2565 ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านน.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ
สำหรับข้อเรียกร้อง 8 ข้อ อาทิ ขอให้จัดทำแผนการติดตามความก้าวหน้า เร่งรัดรายคดีเกี่ยวกับเพศ เนื้อตัวร่างกาย คดีครอบครัว และการค้ามนุษย์ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็กสตรี ขอให้ตำรวจยกระดับคดีเพศ ความรุนแรงในครอบครัว การค้ามนุษย์เป็นคดีพิเศษสำคัญเท่าเทียมกับคดียาเสพติด และอาชญากรรมร้ายแรง รัฐบาลต้องไม่สนับสนุน หรือผลักดันสถานบริการทางเพศ บ่อนการพนัน บุหรี่ไฟฟ้าให้เป็นเรื่องถูกกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษี เป็นต้น
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ก็ใช้วันสตรีสากลใต้แคมเปญ #breakthebias #IWD2022 ปักหมุดประกาศจะศึกษาความเป็นไปได้ของนโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า, ประกาศนำร่องโครงการในพรรคเพื่อไทย และจัดนิทรรศการเรื่องผ้าอนามัย จิ๋ม และความเป็นผู้หญิง เพื่อศึกษานโยบายที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายที่เลี่ยงไม่ได้ของผู้หญิง และฝ่าอคติทางเพศไปพร้อมกัน