ก่อนจะสมัครงานต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนนะครับโดยเฉพาะการหางานในสื่อออนไลน์
ก่อนจะสมัครงานต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนนะครับ โดยเฉพาะการหางานในสื่อออนไลน์
มีทั้งงานจริง ,งานหลอกไปเสียตังค์ค่าอบรม ,หลอกให้ซื้อของมาสต็อก ,หลอกไปเข้าสู่ธุรกิจสีเทา หรืออื่น ๆ อีกมากมาย
เพื่อความปลอดภัย คุณสามารถตรวจสอบประกาศงานได้ง่าย ๆ ครับ ถ้ามีครบ 5 ข้อตรงตามลักษณะต่อไปนี้ ก็แน่ใจได้ว่า งานนั้นเชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงครับ
1 ระบุชื่อบริษัท ชื่อร้านหรือชื่อผู้จ้างชัดเจน : ขอย้ำว่า มันคือส่วนแรกที่ประกาศงานต้องมีครับ แต่ถ้าไม่คุ้นชื่อบริษัท ต้องเอาไปเช็กใน google เลย ถ้ามีอยู่จริง ต้องมีข้อมูลแสดงครับ ถ้าไม่มีเว็บบริษัท อย่างน้อยก็ต้องมี Facebook หรือชื่อบริษัทนั้นต้องมีอยู่ในเว็บต่าง ๆ เช่น เว็บที่ระบุว่าบริษัทเป็นธุรกิจอะไร ตั้งอยู่ที่ไหน
แต่ถ้าเป็นชื่อร้านธรรมดาหรือผู้จ้าง ก็ต้องเช็กเหมือนกันครับ ถ้าไม่เจอข้อมูลว่าชื่อนี้หลอกลวง ลองไปดูข้อต่อไปเลยครับ
2 ระบุชื่อตำแหน่งและรายละเอียดหน้าที่งาน : การจ้างงานล้วนต้องการคนที่พร้อมทำงาน ไม่ต้องสอนอะไรมาก ก็พอทำได้ เรียนรู้ด้วยตนเองได้ ฉะนั้น เขาจะประกาศโดยใช้ชื่อตำแหน่งที่บ่งบอกได้ชัดเจนครับ ว่างานนั้นมีหน้าที่อะไร และจะขยายความในข้อมูลหน้าที่งานเป็นขั้นตอนอย่างละเอียดด้วยครับ เพื่อคัดกรองให้มีเฉพาะคนตรงความต้องการเข้ามาสมัครมากที่สุด
ทั้งนี้บางประกาศอาจจะไม่ได้ลงรายละเอียดในแคปชั่น แต่ก็จะมีข้อมูลระบุไว้ในภาพที่โพสต์ หรือถ้าไม่มีระบุในส่วนไหนเลย ต้องลองติดต่อไปสอบถามให้แน่ใจครับ ถ้าเขาตอบไม่เคลียร์ ไม่เข้าใจเลยว่ามันคืองานอะไร ให้สงสัยไว้เลยครับ ว่างานนั้นอาจไม่จริง
3 ระบุเงินเดือนชัดเจน เหมาะสมกับหน้าที่งาน : ถ้าระบุเป็นตัวเลขชัดเจน จำนวนเงินต้องเหมาะสมกับงานนั้น ไม่สูงเกินหน้าที่งาน เช่น แค่ตอบแชทวันละไม่กี่ชม. ก็ได้ 3 พัน 7 พัน หรือแค่โพสต์ ๆ คลิก ๆ ก็ได้เงินแล้ว !! ถ้ามีงานแบบนี้จริง ได้เงินง่ายขนาดนี้ สังคมเราคงไม่มีคนตกงานสูงขึ้นทุกปีแบบนี้หรอกครับ เพราะความจริงคือ มันไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ ขนาดนั้น
นอกจากนี้ ถ้าไม่ระบุเป็นตัวเลข เขาอาจแจ้งว่า ตามตกลง หรือขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ซึ่งต้องสัมภาษณ์กันอีกทีครับ
4 ระบุคุณสมบัติผู้สมัครอย่างละเอียด : นอกจากชื่อตำแหน่งและหน้าที่งานที่ต้องละเอียด เพื่อให้ได้คนที่ตรงมากที่สุด การระบุคุณสมบัติเขายิ่งต้องไม่พลาดครับ ทั้งเพศ ,อายุ ,วุฒิการศึกษา ,สาขาที่เรียน ,ประสบการณ์ ทั้งนี้ข้อมูลก็จะสอดคล้องกับหน้าที่งานด้วย บางงานอาจเปิดกว้าง ไม่จำกัดคุณสมบัติมากนัก แต่อย่างที่กล่าวข้างต้นครับ ต้องพิจารณาความสมเหตุสมผลให้มากที่สุดด้วย ไม่มีงานไหนได้มาง่าย ๆ ครับ
5 ระบุช่องทางสมัคร – ติดต่ออย่างเป็นทางการ : ไม่ว่าจะเป็นชื่ออีเมล ,ไอดีไลน์ ,เบอร์โทร ,Inbox FB หรือแบบฟอร์มสมัครงาน ต้องใช้ชื่อที่เป็นทางการอยู่แล้ว เช่น ชื่อ HR หรือชื่อบริษัท เพราะมันคือหน้าตาของบริษัทหรือผู้จ้าง ไม่งั้นเขาก็ต้องโดนต่อว่าครับ แต่ถ้าให้ติดต่อผ่าน Inbox ก็สังเกตได้ในโปรไฟล์ของเขา ถ้าไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรเลย แบบนี้ก็ไม่น่าไว้ใจครับ
ส่วนที่เป็นแบบฟอร์มให้กรอก ก็ต้องมีระบุชื่อบริษัท โลโก้ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ที่สำคัญต้องดูข้อมูลที่ให้กรอกด้วยนะครับ ถ้าให้ระบุข้อมูลส่วนตัวที่อาจทำให้คุณไม่ปลอดภัย เช่น เลขบัตรประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่ให้ส่งสำเนาตอนยื่นเอกสารสัมภาษณ์งาน หรือเลขบัญชี ซึ่งเขาจะให้แจ้งตอนเข้าทำงานกับบริษัทแล้วเท่านั้นครับ
ต้องระวังให้มากที่สุด เพราะมิจฉาชีพบางทีก็เนียนมาก ๆ ในช่วงเวลาที่กรอก ต้องอ่านข้อมูลทุกข้อเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจก่อนทุกครั้งที่จะกดส่งไปให้เขานะครับ
ทั้งนี้ นอกจากการหางานในสื่อโซเชียล เพื่อความปลอดภัยมากขึ้น คุณสามารถเลือกช่องทางหางานผ่านเว็บหางานต่าง ๆ ได้เช่นกันนะครับ เพราะแต่ละเว็บไซต์คัดกรองงานมาให้แล้ว สบายใจได้เลย ไม่มีหลอกลวงแน่นอนครับ
อ่านเพิ่มเติม